28 เมษายน 2553

อาเซียน (ASEAN)

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อังกฤษ: Association of South East Asian Nations) หรือ อาเซียน(ASEAN) เป็นองค์การทางภูมิศาสตร์การเมืองและองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีประเทศสมาชิกทั้งหมด10 ประเทศ ได้แก่ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันในการเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม การพัฒนาวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในพื้นที่ และเป็นการเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติ

สัญลักษณ์ สัญลักษณ์อาเซียน คือ ต้นข้าวสีเหลือง 10 ต้นมัดรวมกันไว้ หมายถึงประเทศสมาชิกรวมกันเพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญและความก้าวหน้า สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ และ สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง

30 มีนาคม 2553

WTO










องค์การการค้าโลก (อังกฤษ: World Trade Organization, WTO) เป็นองค์การนานาชาติสังกัดองค์การสหประชาชาติ(UN) ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงทางด้านการค้าระหว่างชาติ เป็นเวทีสำหรับการเจรจาต่อรอง ตกลงและขจัดข้อขัดแย้งในเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ทางการค้าและการบริการระหว่างประเทศสมาชิก องค์การการค้าโลกจัดตั้งขึ้นแทนความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากร เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538 สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปัจจุบันมีสมาชิก 153 ประเทศ ประเทศล่าสุดที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคือหมู่เกาะ Cape Verde ซึ่งได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2008 มีงบประมาณปี พ.ศ. 2549 175 ล้านฟรังก์สวิส (5,170 ล้านบาท) มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสำนักเลขาธิการ 635 คน เลขาธิการคนปัจจุบันชื่อนายปาสกัล ลามี สืบต่อจากนายศุภชัย พานิชภักดิ์ ที่ดำรงตำแหน่งต่อจาก นายไมค์ มัวร์ อีกที
องค์การการค้าโลก จะทำหน้าที่ดูแลข้อตกลงย่อย 3 ข้อตกลง คือ ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากร (General Agreement on Tariff and Trade; GATT) ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้, ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (General Agreement on Trade in Services; GATS) และ ความตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา (The agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights; TRIPS)

ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก WTO เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2538 เป็นสมาชิกลำดับที่ 59

27 มีนาคม 2553

เรื่องของเส้น...ที่กินได้



ขนมจีน เป็นอาหารคาวอย่างหนึ่งของไทย ประกอบด้วยเส้นเรียกว่า เส้นขนมจีน และน้ำยา หรือน้ำยาขนมจีน เป็นที่นิยมทุกท้องถิ่นของไทย แต่มีการปรุงน้ำยาแตกต่างกัน
แม้ว่า ขนมจีน จะมีคำว่า "ขนม" แต่ก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับขนมใดๆ ขณะเดียวกัน แม้จะมีคำว่า "จีน" แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาหารของจีน ภาษาเหนือเรียก ขนมเส้น ภาษาอิสาน เรียก ข้าวปุ้น จะมีขนมจีนชนิดหนึ่งซึ่งใกล้เคียงกับขนม คือ ขนมจีนซาวน้ำ เพราะมีรสหวาน

ประวัติ คำว่า "ขนมจีน" ไม่ใช่อาหารจีน แต่คำว่า "จีน" ที่ต่อท้ายขนมนี้สันนิษฐานกันว่าน่าจะมาจากมอญซึ่งเรียกขนมจีนว่า "คนอมจิน" หมายถึง "สุก 2 ครั้ง" พิศาล บุญปลูก ชาวไทยเชื้อสายรามัญผู้สนใจศึกษาอาหารและวัฒนธรรมมอญกล่าวว่า " จริง ๆ แล้ว ขนมจีนเป็นอาหารของคนมอญหรือรามัญ คนมอญเรียกขนมจีนว่า คนอมจิน คนอม หมายความว่าจับกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน จินแปลว่าทำให้สุก" นอกจากนี้ "คนอม" นั้นสันนิษฐานว่าน่าจะใกล้เคียงกับคำไทย "เข้าหนม" แปลว่าข้าวที่นำมานวดให้เป็นแป้งเสียก่อน ซึ่งภายหลังกร่อนเป็น "ขนม" จริง ๆ แล้ว ขนม ในความหมายดั้งเดิมจึงมิใช่ของหวานอย่างที่เข้าใจในปัจจุบัน ขนม หรือ หนม ในภาษาเขมร หรือ คนอม ในภาษามอญหมายถึงอาหารที่ทำจากแป้ง ดังนั้นขนมจีน จึงน่าจะเพี้ยนมาจาก คนอมจิน ซึ่งทำให้เกิดสมมุติฐานตามมาอีกว่า ดั้งเดิมทีเดียวขนมจีนเป็นอาหารมอญ แล้วจึงแพร่หลายไปสู่ชนชาติอื่น ๆ ในสุวรรณภูมิตั้งแต่โบราณกาล จนเป็นอาหารที่ทำงานและมีความนิยมสูง สามารถหาทานได้ทั่วไป

ชนิดของเส้น

เส้นหมัก : ใช้วิธีการหมักแป้งข้าวเจ้าโดย นำแป้งข้าวเจ้ามาแช่น้ำให้นิ่ม และนำไปโม่ก่อนหมักประมาณเจ็ดวันเมื่อหมักแล้วจึงนำมานวดในเครื่องนวดแป้ง

เส้นสด : ใช้วิธีการผสมแป้งข้าวเจ้า ไม่ต้องทิ้งไว้แล้วจึงนำมานวดในเครื่องนวดแป้งจะได้เส้นที่เล็กและนุ่ม

วิธีทำให้เป็นเส้น ขนมจีนทำมาจากแป้งข้าวเจ้า หรือถ้าเป็นสมัยนี้ก็แป้งขนมจีนสำเร็จ แต่ต้องนำมานวดก่อน หลังจากนั้นนำแป้งใส่กระบอกทองเหลือง ซึ่งมีรูเจาะไว้ที่ปลายด้านหนึ่ง เมื่อใส่แป้งเต็มกระบอกก็ทำการเข้าเครื่องบีบเพื่อทำให้เป็นเส้น เมื่อถูกบีบเส้นขนมจีนจะไหลออกจากปลายกระบอก ลงสู่กะทะที่มีน้ำร้อนเดือด เส้นขนมจีนเป็นเส้นกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 - 1.5 มิลลิเมตร เมื่อต้มจนเส้นขนมสุกก็ตักขึ้นมาทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่าอีกทีหนึ่งก่อนที่จะนำเส้นไปจับ เส้นขนมจีนที่ได้ มักจะจัดเรียงเอาไว้เป็นกลุ่มๆ ขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือ บางถิ่นเรียก จับ หรือ หัว เมื่อเรียงในจานสำหรับรับประทาน จะใส่ประมาณ 3-4 จับนำขนมจีนมาวางใส่ตะกร้า ตะกร้าขนมจีนจะต้องรองด้วยใบตองก่อน


ขนมจีนในแต่ละถิ่น

ภาคเหนือ เรียกว่า ขนมเส้นหรือข้าวเส้น

ภาคอีสาน เรียกว่า ข้าวปุ้น

ภาคใต้ เรียกว่า โหน้มจีน

เวียดนามมีเส้นคล้ายขนมจีนเรียกบุ๋น นิยมกินกับน้ำซุปหมูและเนื้อ ซึ่งเป็นอาหารที่มีชื่อเสียงของเว้ เรียก บุ๋นบ่อเหว

ลาวเรียกขนมจีนว่าข้าวปุ้น นิยมกินกับน้ำยาปลาหรือน้ำยาเป็ด ทางหลวงพระบางกินกับน้ำยาผสมเลือดหมูเรียกน้ำแจ๋ว

กัมพูชาเรียกขนมจีนว่า นมปันเจ๊าะ นิยมกินกับน้ำยาปลาร้า

พม่ามีอาหารประจำชาติเรียกโมฮิงก่า ซึ่งมีลักษณะคล้ายขนมจีนน้ำยาปลาของไทย

การรับประทาน เมื่อเรียงจับขนมจีนลงในจับแล้ว ผู้รับประทานจะราดน้ำยาลงไปบนเส้นขนมจีนให้ทั่ว น้ำยาขนมจีนนั้น มีลักษณะคล้ายน้ำแกง ไม่เหลวจนเกินไป ใช้ราดไปบนเส้นขนมจีนในจาน แต่ละท้องถิ่นจะมีน้ำยาแตกต่างกันไป เช่น น้ำยากะทิ น้ำยาป่า น้ำพริก แกงกะทิต่างๆ เช่น แกงเขียวหวาน น้ำเงี้ยว แกงไตปลา ซาวน้ำ สำหรับเด็กก็ยังมี น้ำยาหวานที่ไม่มีรสเผ็ดและมีส่วนผสมของถั่ว เป็นต้นใช้ช้อนตัดเส้นขนมจีนให้มีความยาวพอดีคำ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากับน้ำยา บางท่านนิยมรับประทานขนมจีนกับน้ำปลา นอกจากน้ำยาแล้ว ยังมีเครื่องเคียงเป็นผักสดและผักดอง ตามรสนิยมในแต่ละท้องถิ่น ทว่าไม่นิยมเติมเครื่องปรุงรสอื่นๆ ในขนมจีน แต่ส่วนใหญ่จะนิยมรับประทานกับเครื่องเคียงประเภททอด เช่น ทอดมัน ดอกไม้ทอด หรืออื่นๆ ตามแต่ความชอบและความนิยมในแต่ละภาค


พระนามเต็มของพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่๙



พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ มีพระนามเต็มว่า


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร



พระบรมนามาภิไธย คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช



ชื่อเต็มๆ กรุงเทพมหานคร พร้อมคำแปล

ชื่อเต็มของกรุงเทพฯ
กรุงเทพมหานคร อมรรัตรโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์
อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์

คำอ่านภาษาไทย
กรุงเทบมะหานะคอน อะมอนรัดตระนะโกสิน มะหินทรายุดทะยา มะหาดิลกพบ นบพะรัดราดชะทานีบูรีรม
อุดมราดชะนิเวดมะหาสะถาน อะมอนพิมานอะวะตานสะถิด สักกะทัดติยะวิดสะนุกำประสิด

คำอ่านภาษาอังกฤษ
KRUNGTHEPMAHANAKHON AMONRATTANAKOSIN MAHINTHRAYUTTHAYA MAHADILOKPHOP
NOPPHARATRATCHATHANIBURIROM UDOMRATCHANIWETMAHASATHAN AMONPHIMAN - AWA
- TANSATHIT SAKKATHATIYAWITSANUKAMPRASIT

คำแปลเป็น ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

กรุงเทพมหานคร อมรรัตรโกสินทร์ มหินทรายุธยา
แปลอังกฤษ : City of Angels, Great City of Immortals,
แปลไทย : พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มีใครรบชนะได้

มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์
แปลอังกฤษ : Magnificent City of the Nine Gems, Seat of the King,
แปลไทย : มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง

อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต
แปลอังกฤษ : City of Royal Palaces, Home of the Gods Incarnate,
แปลไทย : มีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา

สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์
แปลอังกฤษ : Erected by Visvakarman at Indra's Behest.
แปลไทย : ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้


เมืองกับมหานคร

ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า “เมือง” กับ “มหานคร” ต่างกันอย่างไร เหตุใดเมืองบางเมืองจึงได้ชื่อว่าเป็นมหานคร มีหลักเกณฑ์อย่างไรจึงเรียกว่า มหานคร
พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้คำนิยามของ “เมือง” (town) ว่า พื้นที่ตั้งชุมชนซึ่ง มีขนาดใหญ่กว่าหมู่บ้าน มีสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลและจัดการ อาจเรียกเมืองต่าง ๆ ตามลักษณะกิจกรรมที่สำคัญในเมืองนั้น ๆ เช่น เมืองการค้า เมืองอุตสาหกรรม หรือตามสถานที่ตั้ง เช่น เมืองชายทะเล หรือเมืองท่าทางทะเล
ส่วนคำว่า “มหานคร” ราชบัณ ฑิตยสถานบัญญัติจากคำว่า metropolis หมายถึง เมืองขนาดใหญ่มากหรือเมืองแม่ของ รัฐหรือประเทศ มีความสำคัญทั้งในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ลักษณะสำคัญของมหานคร คือ ประการแรก เป็นศูนย์กลางการปกครอง เศรษฐกิจการเงิน สังคมและวัฒนธรรม สามารถที่จะดึงเอาผลผลิตของประเทศนั้น ๆ มาอยู่ภายในเขตเมืองใหญ่ เพื่อการเก็บรวบรวม การค้าขายและการขนส่ง ตามปรกติแหล่งอุตสาหกรรมจะตั้งอ ยู่ภายในหรือใกล้มหานครด้วย ประการที่ ๒ ตั้งอยู่โดด ๆ ไม่มีอาณาเขตติดต่อกับมหานครอื่น ๆ ถ้าติดต่อกับชุมชนเมืองอื่น ๆ จะกลายเป็นอภิมหานคร (megalopolis) ซึ่งก็คือ เขตที่มีเมืองและนครใหญ่ ๆ อยู่หนาแน่นติดต่อกัน ตัวอย่างเช่น ทางชายฝั่งของสหรัฐอเมริกาด้านมหาสมุทรแอตแลนติก ตั้งแต่ทางใต้ของเมืองบอสตันลงมาถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ซึ่งมีเมืองเรียงรายเป็นจำนวนมาก และมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น
ตัวอย่างมหานครที่เห็นได้ชัดเจน คือ กรุงเทพมหานครซึ่งยังมีลักษณะของความเป็น “เอกนคร หรือ เมืองโตเดี่ยว” (primate city) ด้วย คือ เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ และใหญ่กว่าเมืองในระดับรองลงมามากกว่า ๒-๓ เท่า ทั้งนี้ เนื่องจากมีการขยายตัวของเมืองมากกว่าเมืองอื่น ๆ จนเกิดความแตกต่างใน ขนาดของประชากรอย่างเห็นได้ชัด มีผู้เปรียบเทียบเมืองเอกนครนี้ว่าเป็นมหานคร

25 มีนาคม 2553

หนังสือดี 100 ชื่อเรื่องที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

หลักการและเหตุผล
ปัจจุบัน เด็กและเยาวชนไทยยังอ่านหนังสือน้อยกว่าเด็ก และเยาวชนประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ค่อนข้างมาก (สถิติยูเนสโก้ คนไทย 1,000 คน ใช้กระดาษพิมพ์และเขียน 13.1 เมตริกตัน เมื่อเทียบกับคนฮ่องกง, สิงคโปร์ ที่ใช้กระดาษ 1,000 คนต่อ 98 เมตริกตัน) ส่วนหนึ่งอาจเพราะคนไทยจนกว่า แต่ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยยังมีนิสัยรักการอ่านน้อยกว่า

โครงการคัดเลือกหนังสือดีที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน เป็นโครงการวิจัยต่อเนื่องจากโครงการวิจัยคัดเลือกหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน โดยมีจุดมุ่งหมายการกระตุ้นให้เด็ก และเยาวชนไทยรักการอ่านหนังสือมากขึ้น และมีคู่มือในการอ่านหนังสือดี การรักการอ่านเป็นกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองที่สำคัญ ผู้ที่สนใจเรื่องการปฏิรูปการศึกษาน่าจะถือว่า การส่งเสริมให้คนอ่านหนังสือมากขึ้น เป็นกิจกรรมส่วนสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา การรักการอ่านนี้ จะมีผลถึงการปฏิรูปทางความคิด ความอ่านที่จะมีผลต่อการปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมได้ต่อไป

หลักเกณฑ์ในการคัดเลือก

เป็นหนังสือเล่ม ประเภทบันเทิงคดี (นิทาน นิยาย เรื่องสั้น บทกวี) ที่เขียนขึ้นเอง โดยไม่จำกัดยุคสมัย
มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีเนื้อหาสาระที่ส่งเสริมความเข้าใจชีวิตและสังคม เสริมสร้างภูมิปัญญา จินตนาการ และค่านิยมที่ดี มีศิลปะในการเขียนที่ดี มีความงาม ความไพเราะ ความสะเทือนอารมณ์ อ่านได้สนุกเพลิดเพลิน
มีเนื้อหา ท่วงทำนอง ภาพประกอบที่สามารถสนองความสนใจของนักอ่านกลุ่มเด็กและเยาวชนได้อย่างเหมาะสมกับวัย กระตุ้นจินตนาการและการเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตและโลกที่ผู้อ่านรู้สึกเชื่อมโยงด้วย
เป็นการวางพื้นฐานในการอ่านวรรณคดีที่เป็นแบบฉบับ (คลาสสิก) ของไทย หรือช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจชีวิตและสังคมวัฒนธรรมไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น

ประกาศวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2543 โดยเรียงลำดับตามกลุ่มวัย, ประเภทหนังสือ และลำดับตัวอักษรของชื่อหนังสือในแต่ละกลุ่ม

1.) กลุ่มเด็กวัย 3-6 ปี

1.กระต่ายน้อยกับหินวิเศษ - สมบูรณ์ ศิงฆมานันท์
2.ขอแม่ให้ลูกนก - บุญสม เอรวารพ
3.ดอกสร้อยสุภาษิตประกอบภาพ - กรมศิลปากร
4.ต้นไม้ในสวน - ชีวัน วิสาสะ
5.ปลาบู่ทอง - กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
6.ผีเสื้อกับผึ้งน้อย - อำนาจ เย็นสบาย
7.ฟ้าจ๋าอย่าร้อง - ส.พุ่มสุวรรณ
8.ยายกะตา - บุญสม เอรวารพ
9.รถไม้ของขวัญ - อิทธิพล วาทะวัฒนะ
10.เสือโค - หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา, รัตนา อัตถากร
11.สำนึกของปลาทอง - วิรุณ ตั้งเจริญ
12.หนูมากับหนูมี - สมใจ ทิพย์ชัยเมธา
13.หนูอ้อกวาดบ้าน - อุไร ฟ้าคุ้ม
14.เอื้องแซะสีทอง นิยายการ์ตูนชาวเขา - วิชา พรหมจันทน์
15.อำเภออึกทึก - ดำรงศักดิ์ บุญสู่


2.) กลุ่มเด็กวัย 7-12 ปี (แบ่งตามประเภท เป็นนิทานภาพ กับนิยายเรื่อง)

2.1 กลุ่มนิทานภาพ

16. การ์ตูนประวัติบุคคลสำคัญ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ - พรชมภู ราชทา, รุ่งโรจน์ แสงพันธุ์
17.ข้าวเขียวผู้เสียสละ - วิริยะ สิริสิงห
18.เด็กชายผู้ไม่ยอมเปิดหน้าต่าง - กานติ ณ ศรัทธา
19.ต้นไม้ - จารุพงษ์ จันทรเพชร
20.ตาอินกับตานา - เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
21.นโมแห่งบ้านไม้ - อรุณ วัชระสวัสดิ์
22.นางในวรรณคดี - มาลัย
23.นิทานชาวเขา - สมศักดิ์ ศรีมาโนชน์, สุนทร สุนันท์ชัย
24.นิยายภาพ 4 เรื่อง 4 รส - เตรียม ชาชุมพร
25.นิทานภาพพุทธรักษา - ฐะปะนีย์ นาครทรรพ และคณะ
26.เปลือกหอยกับความสุข - มานิต ประภาษานนท์, สุธีรา สาธิตภัทร
27.ผึ้งน้อยในสวน - สิรินทร์ ช่วงโชติ
28.พระเวสสันดร - ปัณยา ไชยะคำ
29.ไม่อยากเป็นควาย - สายสุรีย์ จุติกุล, แสงอรุณ รัตกสิกร
30."เรณู-ปัญญา" เที่ยวรถไฟ - กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
31.ลูกหงส์กตัญญู - พรจันทร์ จันทวิมล
32.เล่นกลางแจ้ง - ปรีดา ปัญญาจันทร์
33.สิงหโตเจ้าปัญญา - ถวัลย์ มาศจรัส
34.สุดสาคร และวีรชนในประวัติศาสตร์ไทย - ประยุต เงากระจ่าง
35.โสนน้อยเรือนงาม - มล.มณีรัตน์ บุนนาค
36.หนังสือชุดภาพประกอบคำบรรยาย และหนังสือชุดภาพและการ์ตูน - เหม เวชกร
37.หนังสือชุดภาพและการ์ตูน - สมควร สกุลทอง และประเทือง มุทิตาเจริญ
38.หนังสือภาพชุด ภาพวิจิตรวรรณคดี - นายตำรา ณ เมืองใต้
39.หนังสือภาพประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ - กาญจนาคพันธุ์

2.2) กลุ่มนิทาน/นิยายเรื่อง

40.เขาชื่อเดช - กาญจนา นาคนันท์
41.ครูไหวใจร้าย - ผกาวดี
42.เชียงเหมี้ยง - คำหมาน คนไค
43.นกกางเขน - หลวงกีรติวิทย์โอฬาร และอร่าม สิทธิสารีบุตร
44.นิทานคติธรรม - แปลก สนธิรักษ์
45.นิทานชาดก ระดับประถม ฉบับกรมวิชาการ
46.นิทานไทย-พระยาอุปกิตศิลปสาร และหลวงศรีอมรญาณ
47.นิทานพื้นบ้าน - เต็มสิริ บุญยสิงห์
48.นิทานร้อยบรรทัด-กรมวิชาการ
49.นิทานสุภาษิต - สามัคยาจารย์สมาคม
50.นิทานอีสป - พระยาเมธาบดี
51.นิยายดาว - สิงโต ปุกหุต
52.พระพุทธเจ้าของฉัน - สันติสุข โสภณศิริ
53.พ่อแม่รังแกฉัน - พระยาอุปกิตศิลปสาร
54.เรื่องของม่าเหมี่ยว - สุมาลี
55.ลูกสัตว์ต่าง ๆ - ขุนสรรคเวทย์, นายกี่ กิรติวิทโยสาร ขุนศึกษากิจพิสัณห์
56.โลกของหนูแหวน - ศราวก
57.หนังสือชุดนิทาน - ส.พลายน้อย
58.หนังสือผจญภัยชุดค้นพบตนเอง (6 เล่ม) - นิคม รายยวา
59.หนังสือชุด เล่าเรื่องวรรณคดีไทย - กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
60.อาณาจักรปลาทอง - ถนัดกิจ ปิณินทรีย์
61.อุดมเด็กดี - กีฬา พรรธนะแพทย์

3.) กลุ่มเด็กและเยาวชนวัย 13-18 ปี (แบ่งตามประเภทเป็น กวีนิพนธ์, เรื่องสั้น, นวนิยาย)

3.1) กวีนิพนธ์

62.ก็พอใจอยากจะรักให้นักหนา - ศักดิ์สิริ มีสมสืบ
63.คำหยาด - เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
64.นักฝันข้างถนน - วารี วายุ
65.ใบไม้ที่หายไป - จิระนันท์ พิตรปรีชา
66.ม้าก้านกล้วย - ไพวรินทร์ ขาวงาม
67.มีรังไว้รักอุ่น - ศุ บุญเลี้ยง

3.2) เรื่องสั้น

68.100 ปี เรื่องสั้นไทย - สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
69.คือหญิงอย่างยิ่งนี้ รวมเรื่องสั้นบทกวีเกี่ยวกับผู้หญิง - สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
70.ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว - ท. เลียงพิบูลย์
71.รวมเรื่องสั้น - ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
72.เรื่องสั้นคัดสรร - เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
73.สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน - วินทร์ เลียววาริณ
74.เสาหินแห่งกาลเวลา รวมเรื่องสั้นศิลปินแห่งชาติ - สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

3.3) นวนิยาย

75.ข้าวนอกนา - สีฟ้า
76.เขี้ยวเสือไฟ - มาลา คำจันทร์
77.คนข้ามฝัน - ประชาคม ลุนาชัย
78.คือรักและหวัง - วัฒน์ วรรลยางกูร
79.คุณชาย - ว. วินิจฉัยกุล
80.คำอ้าย - ยงค์ ยโสธร
81.เจ้าพ่อ-เจ้าเมือง - อาจินต์ ปัญจพรรค์
82.ชีวิตของฉันลูกกระทิง - บุญส่ง เลขะกุล
83.เชิงผาหิมพานต์ - สุชีพ ปุญญานุภาพ
84.ดอกไม้บนภูเขา - สองขา
85.เด็กชายจากดาวอื่น - วาวแพร
86.เด็กชายชาวเล - พนม นันทพฤกษ์
87.บึงหญ้าป่าใหญ่ - เทพศิริ สุขโสภา
88.บูโนคนกลิ่นหญ้า - ภาคภูมิ ศิริอาชาวัฒนา
89.ปูนปิดทอง - กฤษณา อโศกสิน
90.ผีเสื้อและดอกไม้ - นิพพาน
91.พระจันทร์สีน้ำเงิน - สุวรรณี สุคนธา
92.มหกรรมในท้องทุ่ง - อัศศิริ ธรรมโชติ
93.เมืองนิมิต - เรียมเอง
94.ไม้ดัด - โบตั๋น
95.เรือกับรั้ว - เทพศิริ สุขโสภา
96.เรื่องเล่าจากดาวดวงหนึ่ง - พิษณุ ศุภ
97.ลำเนาป่า - ศิเรมอร อุณหธูป
98.เวลาในขวดแก้ว - ประภัสสร เสวิกุล
99.องคุลิมาล - สมัคร บุราวาศ
100.อมตะ - วิมล ไทรนิ่มนวล

ข้อมูล : วิทยากร เชียงกูล และคณะ, สารานุกรมแนะนำหนังสือดี 100 ชื่อเรื่องที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน. -- กรุงเทพฯ : สายธาร, 2544. 360 หน้า

ประเภทของห้องสมุด

ห้องสมุดในปัจจุบันแบ่งออกไปตามหน้าที่เป็นประเภทต่างๆ คือ

1. ห้องสมุดแห่งชาติ
2. ห้องสมุดประชาชน
3. ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย
4. ห้องสมุดโรงเรียน
5. ห้องสมุดเฉพาะ

ห้องสมุดแห่งชาติ
นับเป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ดำเนินการโดยรัฐบาลทำหน้าที่หลักคือรวบรวมหนังสือสิ่งพิมพ์และสื่อความรู้ทุกอย่างที่ผลิตขึ้นในประเทศ และทุกอย่างที่เกี่ยวกับประเทศ ไม่ว่าจะจัดพิมพ์ในประเทศใด ภาษาใด ทั้งนี้เป็นการอนุรักษ์สื่อความรู้ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของชาติ มิให้สูญไป และให้มีไว้ใช้ในอนาคต นอกจากรวบรวมสิ่งพิมพ์ในประเทศแล้ว ก็มีหน้าที่รวบรวมหนังสือที่มีคุณค่าซึ่งพิมพ์ในประเทศอื่นไว้เพื่อการค้นคว้าอ้างอิง ตลอดจนทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมบรรณานุกรมต่างๆ และจัดทำบรรณานุกรมแห่งชาติออกเผยแพร่ให้ทราบทั่วกันว่ามีหนังสืออะไรบ้างที่ผลิตขึ้นในประเทศห้องสมุดแห่งชาติจึงเป็นแหล่งให้บริการทางความรู้แก่คนทั้งประเทศช่วยเหลือการค้นคว้า วิจัย ตอบคำถาม และให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับหนังสือ

ห้องสมุดประชาชน
เช่นเดียวกับห้องสมุดแห่งชาติ ห้องสมุดประชาชนดำเนินการโดยรัฐ อาจจะเป็นรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่นหรือเทศบาล แล้วแต่ระบบการปกครองของแต่ละประเทศ ตามความหมายเดิม ห้องสมุดประชาชนเป็นห้องสมุดที่ประชาชนต้องการให้มีในชุมชน หรือเมืองที่เขาอาศัยอยู่ ประชาชนจะสนับสนุนโดยยินยอมให้รัฐบาลจ่ายเงินรายได้จากภาษีต่างๆ ในการจัดตั้ง และดำเนินการห้องสมุดประเภทนี้เป็นบริการของรัฐจึงมิได้เรียกค่าตอบแทน เช่น ค่าบำรุงห้องสมุด หรือค่าเช่าหนังสือ ทั้งนี้เพราะถือว่าประชาชนได้บำรุงแล้ว โดยการเสียภาษีรายได้ให้แก่ประเทศ หน้าที่ของห้องสมุดประชาชนก็คือ ให้บริการหนังสือเพื่อการศึกษาตลอดชีวิต บริการข่าวสารความเคลื่อนไหวทางวิชาการและเหตุการณ์ต่างๆ ที่ประชาชนควรทราบ ส่งเสริมนิสัยรักการอ่านและ การรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ให้ข่าวสารข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงานและการพัฒนาด้านต่างๆ ของแต่ละคนและสังคม

ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย
เป็นห้องสมุดที่ตั้งอยู่ในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนการสอนตามหลักสูตรโดยการจัดรวบรวมหนังสือและสื่อความรู้อื่นๆ ในหมวดวิชาต่างๆ ตามหลักสูตร ช่วยเหลือในการค้นคว้าวิจัยของอาจารย์และนักศึกษา ส่งเสริมพัฒนาการทางวิชาการของอาจารย์และนักศึกษาโดยจัดให้มีแหล่งความรู้ และช่วยจัดทำบรรณานุกรมและดัชนีสำหรับค้นหาเรื่องราวที่ต้องการ แนะนำนักศึกษาในการใช้หนังสืออ้างอิงบัตรรายการ และคู่มือสำหรับการค้นเรื่อง

ห้องสมุดโรงเรียน
เป็นห้องสมุดที่ตั้งอยู่ในโรงเรียนมัธยม และโรงเรียนประถมศึกษามีหน้าที่ส่งเสริมการเรียนการสอนตามหลักสูตรโดยการรวบรวมหนังสือและสื่อความรู้อื่นๆ ตามรายวิชา แนะนำสั่งสอนการใช้ห้องสมุดแก่นักเรียนจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน แนะนำให้รู้จักหนังสือที่ควรอ่าน ให้รู้จักวิธีศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ให้รู้จักรักและถนอมหนังสือ และเคารพสิทธิของผู้อื่นในการใช้ห้องสมุดและยืมหนังสือซึ่งเป็นสมบัติของทุกคนร่วมกัน ร่วมมือกับครูอาจารย์ในการจัดชั่วโมงใช้ห้องสมุด จัดหนังสือและสื่อการสอนอื่นๆ ตามรายวิชาให้แก่ ครูอาจารย์




ห้องสมุดเฉพาะ
คือห้องสมุดซึ่งรวบรวมหนังสือในสาขาวิชาบางสาขาโดยเฉพาะ มักเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยราชการ องค์การ บริษัทเอกชน หรือธนาคาร ทำหน้าที่จัดหาหนังสือและให้บริการความรู้ ข้อมูล และข่าวสารเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ
การดำเนินงานของหน่วยงานนั้นๆ ห้องสมุดเฉพาะจะเน้นการรวบรวมรายงานการค้นคว้าวิจัย วารสารทางวิชาการ และเอกสารเฉพาะเรื่องที่ผลิตเพื่อการใช้ในกลุ่มนักวิชาการบริการของห้องสมุดเฉพาะจะเน้นการช่วยค้นเรื่องราว ตอบคำถาม แปลบทความทางวิชาการ จัดทำสำเนาเอกสาร ค้นหาเอกสาร จัดทำบรรณานุกรมและดัชนีค้นเรื่องให้ตามต้องการ จัดพิมพ์ข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์เฉพาะเรื่องส่งให้ถึงผู้ใช้ จัดส่งเอกสารและเรื่องย่อของเอกสารเฉพาะเรื่องให้ถึงผู้ใช้ตามความสนใจเป็นรายบุคคล
***ในปัจจุบันนี้ เนื่องจากการผลิตหนังสือลและสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยเฉพาะวารสารทางวิชาการรายงานการวิจัย และรายงานการประชุมทางวิชาการมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากมาย แต่ละสาขาวิชามีสาขาแยกย่อยเป็นรายละเอียดลึกซึ้ง จึงยากที่ห้องสมุดแห่งใดแห่งหนึ่งจะรวบรวมเอกสารเหล่านี้ได้หมดทุกอย่าง และให้บริการได้ทุกอย่างครบถ้วน จึงเกิดมีหน่วยงานดำเนินการเฉพาะเรื่อง เช่น รวบรวมหนังสือและสิ่งพิมพ์อื่นๆ เฉพาะสาขาวิชาย่อย วิเคราะห์เนื้อหา จัดทำเรื่องย่อ และดัชนีค้นเรื่องนั้นๆ แล้วพิมพ์ออกเผยแพร่ให้ถึงตัวผู้ต้องการเรื่องราวข่าวสาร และข้อมูลตลอดจนเอกสารในเรื่องนั้น หน่วยงานที่ทำหน้าที่ประเภทนี้ จะมีชื่อเรียกว่า ศูนย์เอกสาร ศูนย์สารสนเทศ ศูนย์ข่าวสาร หรือศูนย์สารนิเทศ เช่น ศูนย์เอกสารการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ศูนย์ข่าวสารการประมง เป็นต้น ศูนย์เหล่านี้บางศูนย์เป็นเอกเทศบางศูนย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุด บางศูนย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานเช่นเดียวกับห้องสมุดเฉพาะ

ทำไมต้องเขียนอ้างอิงและบรรณานุกรม

การอ้างอิง หมายถึง การบอกรายละเอียดของแหล่งสารนิเทศที่ใช้อ้างอิงในการศึกษาค้นคว้า ซึ่งนำเสนอในรูปของรายงาน ภาคนิพนธ์ บทความ หนังสือวิชาการ และรายงานการวิจัย

ความสำคัญของการอ้างอิง
1. เพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้ที่มาศึกษาค้นคว้า สามารถตรวจสอบหรือติดตามศึกษาเพิ่มเติมได้
2. เพื่อให้เกียรติแก่ผู้แต่งสารนิเทศที่ใช้อ้างอิง

3. เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแก่ผลงาน ให้กับผู้ที่ได้อ่าน

บรรณานุกรม หมายถึงข้อความที่ประกอบ หรือระบุหรือไว้ในส่วนท้าย หรือแนบท้ายหนังสือ รายงาน บทความวิชาการ และงานวิจัย เพื่อแสดงหลักฐาน ความน่าเชื่อถือ และเป็นแหล่งข้อมูลให้ผู้อ่านรายงาน บทความวิชาการ และงานวิจัย ได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม