ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า “เมือง” กับ “มหานคร” ต่างกันอย่างไร เหตุใดเมืองบางเมืองจึงได้ชื่อว่าเป็นมหานคร มีหลักเกณฑ์อย่างไรจึงเรียกว่า มหานคร
พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้คำนิยามของ “เมือง” (town) ว่า พื้นที่ตั้งชุมชนซึ่ง มีขนาดใหญ่กว่าหมู่บ้าน มีสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลและจัดการ อาจเรียกเมืองต่าง ๆ ตามลักษณะกิจกรรมที่สำคัญในเมืองนั้น ๆ เช่น เมืองการค้า เมืองอุตสาหกรรม หรือตามสถานที่ตั้ง เช่น เมืองชายทะเล หรือเมืองท่าทางทะเล
ส่วนคำว่า “มหานคร” ราชบัณ ฑิตยสถานบัญญัติจากคำว่า metropolis หมายถึง เมืองขนาดใหญ่มากหรือเมืองแม่ของ รัฐหรือประเทศ มีความสำคัญทั้งในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ลักษณะสำคัญของมหานคร คือ ประการแรก เป็นศูนย์กลางการปกครอง เศรษฐกิจการเงิน สังคมและวัฒนธรรม สามารถที่จะดึงเอาผลผลิตของประเทศนั้น ๆ มาอยู่ภายในเขตเมืองใหญ่ เพื่อการเก็บรวบรวม การค้าขายและการขนส่ง ตามปรกติแหล่งอุตสาหกรรมจะตั้งอ ยู่ภายในหรือใกล้มหานครด้วย ประการที่ ๒ ตั้งอยู่โดด ๆ ไม่มีอาณาเขตติดต่อกับมหานครอื่น ๆ ถ้าติดต่อกับชุมชนเมืองอื่น ๆ จะกลายเป็นอภิมหานคร (megalopolis) ซึ่งก็คือ เขตที่มีเมืองและนครใหญ่ ๆ อยู่หนาแน่นติดต่อกัน ตัวอย่างเช่น ทางชายฝั่งของสหรัฐอเมริกาด้านมหาสมุทรแอตแลนติก ตั้งแต่ทางใต้ของเมืองบอสตันลงมาถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ซึ่งมีเมืองเรียงรายเป็นจำนวนมาก และมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น
ตัวอย่างมหานครที่เห็นได้ชัดเจน คือ กรุงเทพมหานครซึ่งยังมีลักษณะของความเป็น “เอกนคร หรือ เมืองโตเดี่ยว” (primate city) ด้วย คือ เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ และใหญ่กว่าเมืองในระดับรองลงมามากกว่า ๒-๓ เท่า ทั้งนี้ เนื่องจากมีการขยายตัวของเมืองมากกว่าเมืองอื่น ๆ จนเกิดความแตกต่างใน ขนาดของประชากรอย่างเห็นได้ชัด มีผู้เปรียบเทียบเมืองเอกนครนี้ว่าเป็นมหานคร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น